




สำนักงานตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มีหน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบและให้ข้อมูลในการดำเนินงานการตรวจสอบภายใน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ความเป็นมา
การตรวจสอบภายในของส่วนราชการเกิดขึ้นโดยกระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาอนุมัติในหลักการ เมื่อเดือนสิงหาคม 2519 ให้ส่วนราชการที่เป็น กระทรวง ทบวง กรม และเทียบเท่า รวมถึงจังหวัด มีตำแหน่งอัตรากำลังของผู้ตรวจสอบภายในเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบภายในของส่วนราชการ โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้พิจารณามาตรฐานคุณสมบัติของตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายใน ขึ้นตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการ เป็นข้าราชการประจำทุกส่วนราชการ
กระทรวงการคลังได้กำหนดมาตรฐานและปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการหลายฉบับ เพื่อให้เหมาะสมชัดเจนยิ่งขึ้นตามภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันใช้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ พ.ศ. 2551 และมีระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2546 เป็นกลไกอย่างหนึ่งในการติดตามกระบวนการควบคุมภายในขององค์กรอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและเหมาะสมส่งผลให้สามารถลดความเสี่ยงที่จะทำให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ลงได้ อีกทั้งยังมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ พ.ศ.2548 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2548 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของการกำกับดูแลและควบคุมตนเองที่ดีของส่วนราชการ เพิ่มคุณค่าให้กับองค์กร
การตรวจสอบภายในได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันผู้ตรวจสอบภายในไม่ได้มีหน้าที่เพียงการตรวจสอบทางด้านการเงิน การบัญชี การปฏิบัติตามระเบียบ ยังมีหน้าที่ตรวจสอบด้านการดำเนินงาน (Performance Audit) และการตรวจสอบระบบงานสารสนเทศ (IT Audit) รวมทั้งการบริการให้ความเชื่อมั่น (Assurance Services) และบริการให้คำปรึกษา (Consulting Services) อย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีหน่วยตรวจสอบภายในเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2521 เริ่มแรกมีบุคลากร จำนวน 2 คน เป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา จำนวน 13 คน ประกอบด้วย นักตรวจสอบภายใน จำนวน 10 อัตรา ผู้ปฏิบัติงานบริหาร จำนวน 2 อัตรา และมีนักตรวจสอบภายในชำนาญการพิเศษ เป็นหัวหน้าสำนักงานตรวจสอบภายใน
คณะกรรมการการอุดมศึกษาในการประชุมครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2550 มีมติเสนอแนะให้สภาสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนทุกแห่งจัดให้มีคณะกรรมการการตรวจสอบประจำสถาบันอุดมศึกษาขึ้น โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดวางระบบและดำเนินการป้องกันความเสี่ยง โดยให้มีระบบการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยง ระบบการตรวจสอบการบริหารจัดการ เพื่อให้สภาสถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการบริหารนโยบาย กำกับดูแลเชิงนโยบายตามบทบาทและภารกิจให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา โดยคณะกรรมการประกอบด้วย กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก จำนวน 3-5 คน และให้สำนักงานตรวจสอบภายในทำหน้าที่เลขานุการและปฏิบัติงานด้านธุรการของคณะกรรมการตรวจสอบประจำสถาบันอุดมศึกษา และรายงานผลการดำเนินงานต่อสภาสถาบันอุดมศึกษา
วิสัยทัศน์
เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบตามมาตรฐานกรมบัญชีกลาง
ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
พันธกิจ
1. นำเทคโนโลยี/นวัตกรรมมาพัฒนางานตรวจสอบ
2. เผยแพร่มาตรฐานการตรวจสอบภายในแก่หน่วยรับตรวจ
3. พัฒนาภาพลักษณ์และให้ความรู้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยรับตรวจ
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้งานตรวจสอบภายในได้คุณภาพและเป็นที่ยอมรับของหน่วยรับตรวจและผู้บริหาร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานภายนอก
- เพื่อให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ มีความเชื่อมั่น ว่าการบริหารงานด้านต่าง ๆบรรลุผลสำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ด้วยความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
มีความถูกต้อง ครบถ้วนเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ - เพื่อให้มีระบบการบริหารงานแบบธรรมาภิบาล ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ขององค์กร
- เพื่อปฏิบัติงานด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีทันสมัยช่วยในการจัดการ ให้เกิดการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และรวดเร็ว